ข่าวสารเรื่องเกษตร

   

 เฝ้าระวังแหล่งปลูกมะพร้าวหลังฝนชุก "ด้วงแรด"มะพร้าวระบาด




 

กรมส่งเสริมการเกษตรย้ำชัด เฝ้าระวังแหล่งปลูกมะพร้าวหลังฝนชุก "ด้วงแรด"มะพร้าวระบาดแหล่งปลูกมะพร้าวสำคัญของไทยเข้าสู่ฤดูฝน 


โดยกรมวิชาการเกษตรแนะเกษตรกรให้เฝ้าระวังด้วงแรดมะพร้าว ซึ่งตัวเต็มวัยจะบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบ ทำลายยอดอ่อนที่ใบยังไม่คลี่ ทำให้ใบใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วๆคล้ายหางปลา ใบใหม่จะแคระแกร็น รอยแผลที่ถูกเจาะจะเป็นด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ หรือเกิดยอดเน่าจนถึงต้นตายได้


โดยวิธีป้องกันกำจัดต้องทำแบบผสมผสาน ทั้งวิธีเขตกรรม ชีววิธี และสารเคมี

วิธีเขตกรรม หมั่นกำจัดเศษวัสดุบริเวณสวนอย่างสม่ำเสมอเพื่อกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ ถ้ามีกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กองขยะ กองขี้เลื่อย กองแกลบ ควรกำจัดออกไปจากสวนหรือกองให้เป็นที่ แล้วหมั่นกลับกองเพื่อตรวจดูหนอนด้วงแรด หากพบให้จับมาทำลายหรือเผากองนั้นทิ้ง

ลำต้นและตอมะพร้าวที่โค่นทิ้งไว้ รวมทั้งมะพร้าวที่ยืนต้นตาย ควรโค่นลงมาเผาทำลาย แต่ถ้าต้นที่ถูกตัดยังสดอยู่ ให้นำมาทำกับดักล่อให้ด้วงแรดมาวางไข่ ตัดเป็นท่อนสั้นๆนำมาวางเรียงให้เปลือกติดกับดิน เพราะด้วงแรดมะพร้าวจะวางไข่บริเวณที่ชุ่มชื้นและผุเร็ว เมื่อพบหนอนให้เผาทำลายท่อนกับดักเพื่อกำจัดทั้งไข่ หนอน และดักแด้ สำหรับตอมะพร้าวที่เหลือให้ใช้น้ำมันเครื่องทาราดให้ทั่วตอ เพื่อป้องกันการวางไข่

ชีววิธีกำจัด ใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม ใส่กองขยะ กองปุ๋ยคอก หรือกับดักท่อนมะพร้าว เกลี่ยเชื้อให้กระจายทั่วกอง เพื่อให้เชื้อมีโอกาสสัมผัสกับตัวหนอนมากที่สุด จากนั้นรดน้ำให้ความชื้นและหาวัสดุใบมะพร้าวมาคลุมกองไว้ เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมจะเข้าทำลายการเจริญเติบโตของ ด้วงแรด

ส่วนการใช้สารเคมี ในต้นมะพร้าวอายุ 3–5 ปี ที่ยังไม่สูงนักใส่ลูกเหม็นบริเวณคอมะพร้าวรอบยอดอ่อนทางละ 2 ลูก ต้นละ 6–8 ลูก กลิ่นของลูกเหม็นจะไล่ด้วงแรดไม่ให้บินเข้ามาทำลายคอมะพร้าว
กรณีระบาดมากให้ใช้ คลอร์ไพริฟอส 40% อีซี หรือ ไดอะซินอน 60% อีซี หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี ชนิดใดชนิดหนึ่ง อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณคอมะพร้าวให้เปียกตั้งแต่โคนยอดอ่อนลงมาในปริมาณ 1-1.5 ลิตรต่อต้น ทุก 15-20 วัน และควรใช้ 1-2 ครั้งในช่วงระบาด


ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.thairath.co.th/content/1411565
_________________________
ติดตามข่าวสารของเราทั้งหมดได้ที่ www.kasetnews.com

ไม่พลาดการอัพเดตเรื่องเกษตรกับทุกช่องทางการติดต่อเรา 

Facebook : facebook.com/kasetnewstv 

Youtube : youtube.com/kasetnews

Instagram : instagram.com/kasetnews

#ช่องเกษตรนิวส์ ดูได้ที่กล่อง PSI หมายเลข 72 และออนไลน์ผ่านเว็บไซท์  

www.kasetnews.com ทั่วโลก 24 ชั่วโมง 


#kasetnews #kasetnewsshop #เกษตรนิวส์ #ข่าวเกษตร #สินค้าเกษตร#ทำเกษตร #เกษตร #amazingthailand #มะพร้าว

ผู้เข้าชม : 433