ความรู้เรื่องเกษตร

   

 มาทำรู้จัก “หนอน” เจาะเมล็ดทุเรียน กันเถอะ




 

มาทำรู้จัก “หนอน” เจาะเมล็ดทุเรียน กันเถอะ


ชวนเกษตรกรหมั่นสํารวจแปลงทุเรียนและเฝ้าระวังการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนโดยเฉพาะสวนทุเรียนที่อยู่ในระยะติดผล

• รูปร่างลักษณะ

หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน (Durian seed borer) หรือที่เกษตรกรเรียกกันทั่วไปว่า หนอนใต้ หรือหนอนมาเลย์ ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mudaria luteileprosa Holloway ผีเสื้อมีสีน้ำตาลอมเทา มีจุดสีขาวบนสันหลังอก มีจุดใหญ่ที่ขอบปีกอย่างน้อย 3 จุด และจุดเล็กที่มุมปีกอีก 1-3 จุด ระยะไข่นาน 2-3 วัน หนอน 38 วัน ดักแด้ประมาณ 1 เดือน และตัวเต็มวัย 7 - 10 วัน ตัวเมียหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้ 100 - 200 ฟอง โดยวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ บริเวณหนามทุเรียนใกล้ขั้วผล ตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่จะเจาะไชเข้าไปภายในผลและอาศัยกัดกินอยู่ภายในเมล็ด ตัวหนอนโตเต็มที่มีขนาดยาวประมาณ 4 เซนติเมตร เข้าดักแด้ในดินที่ชื้นนาน 1 – 9 เดือน จึงฟักออกมาเป็นตัวเต็มวัย ดักแด้อาจมีอายุนานกว่านั้น ในกรณีที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม แต่ถ้ามีฝนตกหนักจะช่วยกระตุ้นให้ออกเป็นตัวเร็วขึ้น

• ลักษณะการทําลาย

หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจะเจาะไชเข้าไปภายในเมล็ด กัดกินและขับถ่ายมูลออกมา ทําให้เนื้อทุเรียนเปรอะเปื้อนเสียหาย โดยตัวเต็มวัยจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ บริเวณหนามทุเรียนใกล้ ๆ ขั้วผล ตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่จะเจาะเข้าไปในผลและอาศัยกัดกินอยู่ภายในเมล็ดโดยไม่ทําลายเนื้อทุเรียนเลย และเมื่อมองจากภายนอกผลจะปราศจากร่องรอยของการทําลายผิวผล ยกเว้นจะมีทางเดินเล็ก ๆ ระหว่างเนื้อและผิวเปลือกด้านในจะมีรอยเป็นเส้นซึ่งเมล็ดที่ถูกทําลายส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะที่เมล็ดแข็งแล้ว โดยหนอนจะใช้เวลาเติบโตอยู่ภายในเมล็ดจนกระทั่งตัวหนอนโตเต็มที่จึงเจาะรูเพื่อออกจากผลทุเรียนและเข้าดักแด้ในดิน เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมจึงออกเป็นตัวเต็มวัยรูที่หนอนเจาะออกมามีขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 - 8 มิลลิเมตร รอบ ๆ ปากรูจะมีขุยสีขาวปนสีส้มติดอยู่ผลที่ถูกทําลายไม่สามารถขายเพื่อรับประทานสดได้ ต้องนําไปแปรรูปเป็นทุเรียนกวนเท่านั้น ซึ่งราคาต่ำกว่าผลสด

• การแพร่กระจายและฤดูที่มีการระบาด

หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนแพร่ระบาดในพื้นที่ปลูกทุเรียนของภาคใต้และภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) โดยพบระบาดมากระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม

• การป้องกันและกําจัด

1. ติดตามสถานการณ์หนอนเจาะเมล็ดโดยตรวจดูตัวเต็มวัยของหนอนเจาะเมล็ดในกับดักแสงไฟในช่วงเวลาต่าง ๆ ดังนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์และพฤษภาคม ตรวจดู 2 - 3 ครั้ง/สัปดาห์ และในเดือนมีนาคม - เมษายน ตรวจดูทุกวัน หากมีฝนตกหนักติดต่อกัน 2 - 3 วัน ควรตรวจดูทุกวัน

2. รักษาสวนให้สะอาดอยู่เสมอ หมั่นตรวจสวนหลังทุเรียนติดผลแล้ว เมื่อพบผลที่ถูกทําลายหรือผลร่วงในสวนที่มีการระบาดของหนอนเจาะเมล็ด ควรเก็บผลร่วงไปเผาทําลายทิ้งทุกวัน เพื่อลดการเพิ่มปริมาณเนื่องจากหลังจากทุเรียนร่วงไม่นาน ถ้ามีหนอนอยู่ภายในหนอนจะเจาะรูออกมาเพื่อเข้าดักแด้ในดิน

3. ห่อผลทุเรียนโดยใช้ถุงพลาสติกสีขาวขุ่น เจาะด้านล่างถุงเพื่อให้สามารถระบายน้ําออกได้ ป้องกันผีเสื้อมาวางไข่ ควรเริ่มห่อผลเมื่อทุเรียนอายุได้ 1 เดือนครึ่ง

4. ใช้กับดักแสงไฟสีน้ําเงิน-ดํา (Black-blue light trap) ล่อตัวเต็มวัยมาทําลาย ช่วงที่เหมาะสมตั้งแต่เวลา 21.00 น เป็นต้นไป และควรทําโดยพร้อมเพรียงกันทุกสวน ซึ่งจะทําให้ลดปริมาณการระบาดลงได้ และผลจากการติดตั้งกับดักแสงไฟจะทําให้พบว่าเริ่มมีผีเสื้อในช่วงไหน เพื่อวางแผนการป้องกันกําจัดได้ถูกช่วงเวลา

5. เมื่อพบตัวเต็มวัย 1 ตัวในกับดักแสงไฟ ทําการสํารวจไข่ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่ร่องหนามของผลทุเรียนแล้วเก็บทําลาย หรือใช้สารเคมีฉีดพ่นที่ผลทุเรียน เช่น ไซเพอร์เมทริน+โฟซาโลน ไดอะซินอน เอ็นโดซัลแฟนแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน อัตราการใช้ตามคําแนะนําในฉลาก และควรงดพ่นสารเคมีก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 14 วัน

6. แช่เมล็ดด้วยสารเคมีคาร์บาริลก่อนนําเมล็ดทุเรียนจากแหล่งที่มีการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดไปขยายพันธุ์

ติดตามอ่านวิธีสังเกตวงจรของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนและดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://goo.gl/Zj4Wny

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร และ กลุ่มอารักขาพืช สํานักงานเกษตรจังหวัดตราด

#เก็บมาเล่า #หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ
Website: www.pidthong.org
Twitter: twitter.com/pidthong
Instagram: instagram.com/pidthonglangphra
YouTube: https://goo.gl/6d37Fv

ผู้เข้าชม : 14078